วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

รูปแบบการสอนแบบซินเนคติกส์ (Synectics)

                                              

                                                   รูปแบบการสอนแบบซินเนคติกส์ (Synectics)

1. ความหมายของซินเน็คติกส์ (Synectics)

                     ซินเน็คติกส์ (Synectics) มาจากรากศัพท์ในภาษากรีกคือ Syn หมายถึงนำมารวมกัน และ Etics หมายถึงส่วนประกอบที่หลากหลาย รวมความแล้วหมายถึงการรวมสิ่งที่ต่างกันเข้าด้วยกัน อาจกล่าวได้ว่า ซินเน็คติกส์ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้หรือการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการอุปมา เพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่ต้องการเรียนรู้หรือปัญหากับสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคย หรือดัดแปลงสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคยหรือแปลกออกไป (Gordon, 1961)
สรุปได้ว่า กระบวนการซินเน็คติกส์ (Synectics) หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนด้วยวิธีการเชื่อมโยงที่แตกต่างกันหรือไม่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน โดยใช้กระบวนการเปรียบเทียบ เพื่อช่วยในการสร้างผลงานที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม

2. รูปแบบการเรียนการสอนแบบซินเนคติกส์ ( Synectics )                          ทิศนา แขมมณี (2551) กล่าวว่า จากการสังเกตและวิเคราะห์ผลงานของนักการศึกษาผู้ค้นคิดระบบและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ พบว่านักการศึกษานิยมใช้คำว่า ระบบในความหมายที่เป็นระบบใหญ่ ๆ เช่นระบบการศึกษา หรือถ้าเป็นระบบการเรียนการสอน ก็จะครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของการเรียนการสอนในภาพรวม และนิยมใช้คำว่า รูปแบบกับระบบที่ย่อยกว่า โดยเฉพาะกับวิธีสอนซึ่งเป็นองค์ประกอบย่อยที่สำคัญของระบบการเรียนการสอน ดังนั้นการนำวิธีสอนใด ๆ มาจัดทำอย่างเป็นระบบตามหลักและวิธีการจัดระบบแล้ว วิธีสอนนั้นก็จะกลายเป็น ระบบวิธีสอนหรือที่นิยมเรียกว่า รูปแบบการเรียนการสอนซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบการเรียนการสอนแบบเน้นกระบวนการซินเน็คติกส์ ( Synectics )


                  ก. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
                      รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์นี้ เป็นรูปแบบที่ Joyce and Weil, 1996) พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดของกอร์ดอน (Gordon) ที่กล่าวว่าบุคคลทั่วไปมักยึดติดกับวิธีคิดแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ของตน โดยไม่ค่อยคำนึงถึงความคิดของคนอื่น ทำให้การคิดของตนคับแคบและไม่สร้างสรรค์ บุคคลจะเกิดความคิดเห็นที่สร้างสรรค์แตกต่างไปจากเดิมได้ หากมีโอกาสได้ลองคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดโดยสมมติตัวเองเป็นคนอื่น และถ้ายิ่งให้บุคคลจากหลายกลุ่มประสบการณ์มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะยิ่งได้วิธีการที่กลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นกอร์ดอนจึงได้เสนอให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดแก้ปัญหาด้วยแนวความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม ไม่อยู่ในสภาพที่เป็นตัวเอง ให้ลองใช้ความคิดในฐานะที่เป็นคนอื่น หรือเป็นสิ่งอื่น สภาพการณ์เช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นได้ กอร์ดอนเสนอวิธีการคิดเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปมัยเพื่อใช้ในการกระตุ้นความคิดใหม่ ๆ ไว้ 3 แบบ คือ การเปรียบเทียบแบบตรง การเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ และการเปรียบเทียบคำคู่ขัดแย้ง วิธีการนี้มีประโยชน์มากเป็นพิเศษสำหรับการเขียนและการพูดอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการสร้างสรรค์งานทางศิลปะ
                     ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
                          รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดที่ใหม่แตกต่างไปจากเดิม และสามารถนำความคิดใหม่นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

                   ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
                       ขั้นที่ 1 ขั้นนำ ผู้สอนให้ผู้เรียนทำงานต่าง ๆ ที่ต้องการให้ผู้เรียนทำ เช่น ให้เขียน บรรยาย เล่า ทำ แสดง วาดภาพ สร้าง ปั้น เป็นต้น ผู้เรียนทำงานนั้น ๆ ตามปกติที่เคยทำ เสร็จแล้วให้เก็บผลงานไว้ก่อน
                      ขั้นที่ 2 ขั้นการสร้างอุปมาแบบตรงหรือเปรียบเทียบแบบตรง ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เช่น ลูกบอลกับมะนาว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำคู่ทีผู้สอนเลือกมาควรให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้อหาหรืองานที่ให้ผู้เรียนทำในขั้นที่ 1 ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหลาย ๆคู่ และจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
                    ขั้นที่ 3 ขั้นการสร้างอุปมาบุคคลหรือเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ ผู้สอนให้ผู้เรียนสมมติตัวเองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และแสดงความรู้สึกออกมาเช่น ถ้าเปรียบเทียบผู้เรียนเป็นเครื่องซักผ้า จะรู้สึกอย่างไร ผู้สอนจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
                    ขั้นที่ 4 ขั้นการสร้างอุปมาคำคู่ขัดแย้ง ผู้สอนให้ผู้เรียนนำคำหรือวลีที่ได้จากการเปรียบเทียบในขั้นที่ 2 และ 3 มาประกอบกันเป็นคำใหม่ที่มีความหมายขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น ไฟเย็น น้ำผึ้งขม มัจจุราชสีน้ำผึ้ง เชือดนิ่ม ๆ เป็นต้น
                   ขั้นที่ 5 ขั้นการอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้ง ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้งที่ได้
                     ขั้นที่ 6 ขั้นการนำความคิดใหม่มาสร้างสรรค์งาน ผู้สอนให้ผู้เรียนนำงานที่ทำไว้เดิมในขั้นที่ 1 ออกมาทบทวนใหม่ และลองเลือกนำความคิดที่ได้มาใหม่จากกิจกรรมขั้นที่ 5 มาใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
            ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ                 ผู้เรียนจะเกิดความคิดใหม่ ๆ และสามารถนำความคิดใหม่ ๆ นั้นไปใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความแปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้เรียนอาจเกิดความตระหนักในคุณค่าของการคิด และความคิดของผู้อื่นอีกด้วย
             จ. ข้อดี 1. ผู้เรียนเกิดความคิดใหม่ๆ และสามารถนำความคิดใหม่ๆ ไปใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความแปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้น
2. ผู้เรียนเกิดความตระหนักในคุณค่าของการคิด และความคิดของผู้อื่นด้วย
3. วิธีการนี้เหมาะสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนและการพูดอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการสร้างสรรค์งานศิลปะ
             ฉ. ข้อด้อย 1. ผู้สอนต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนมากขึ้น เนื่องจากต้องเตรียมคำคู่เพื่อให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง
2. ในกรณีที่เป็นการเรียนรู้ในสาระวิชาที่มีเนื้อหาซับซ้อน อาจจะต้องใช้เวลามากสำหรับผู้สอนในการเตรียมการสอนและต้องให้เวลาผู้เรียนมากขึ้นในการเรียนรู้แต่ละขั้นตอน
            ช. ข้อเสนอแนะ
1. ผู้สอนควรเพิ่มพูนทักษะด้านภาษาของตนเองเพื่อช่วยในการเตรียมคำคู่ที่มีลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้อหา เพื่อให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง
2. ผู้สอนต้องมีเวลาในการเตรียมการสอนมากพอ

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตัวอย่างงานวิจัยที่สอนแบบ ซี ไอ อาร์ ซี

ตัวอย่างงานวิจัย
ผลของการเรียนแบบร่วมมือโดยใช้โปรแกรม  CIRC  ต่อความสามารถ
ในการอ่านจับใจความภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านคลองหวะ (ทวีรัตน์ราษฎร์บำรุง) จังหวัดสงขลา
                                   โดย     อมรรัตน์  ประทุมชาติภักดี
 
ความเป็นมา
            การอ่านเป็นวิธีการที่มีความสำคัญในการแสวงหาความรู้ซึ่งจะนำความก้าวหน้ามาสู่ชีวิตการอ่านจะช่วยพัฒนาสติปัญญาของผู้อ่านให้สูงขึ้น ทำให้ผู้อ่านฉลาดรอบรู้ ก้าวทันโลกทันเหตุการณ์การอ่านเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพราะเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ ผู้ที่มีความสามารถในการอ่านจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียนทักษะการอ่านเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการเรียนรู้  เพราะการเรียนวิชาต่าง ๆ ทุกระดับต้องอาศัยความสามารถในการอ่านแทบทั้งสิ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการอ่าน การเรียนการสอนจำเป็น ต้องทำให้ผู้อ่านเกิดทักษะในการอ่านอย่างแท้จริง สามารถนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์ได้ และมีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอ
                        การเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นวิธีการสอนที่ทำให้เกิดการกระตุ้นความคิดซึ่งกันและกัน ให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อช่วยกันเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความคิดรวบยอด ทักษะความเข้าใจ มีความสุขในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Slavin. 1995 : 4) ซึ่งการเรียนแบบร่วมมือนี้จะกำหนดนักเรียนทำงานเป็นกลุ่มกลุ่มละ 4 6 คน สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย ผู้ที่มีความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกันโดยสมาชิกจะคอยกระตุ้นซึ่งกันและกัน เพื่อพากลุ่มไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการและจะได้ รับรางวัลเมื่อสมาชิกในกลุ่มเกิดการเรียนรู้หรือมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น
  ผลจากการวิจัยยืนยันได้ว่าการเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาการอ่านจับใจความภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาได้ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาการเรียนแบบร่วมมือโดยใช้โปรแกรม CIRC (Cooperative Integrated Reading and Composition) ซึ่งเป็นโปรแกรมพัฒนาขึ้นสำหรับสอนการอ่านและการเขียนแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาโดยเฉพาะ และยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทย ซึ่งการอ่านจับใจความเป็นทักษะที่จำเป็นจะต้องฝึกฝนให้เกิดแก่นักเรียนเพื่อจะได้นำความรู้จากการอ่านจับใจความไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนในชั้นที่สูงขึ้นในอนาคตต่อไป การเรียนโดยใช้โปรแกรม CIRC มีลำดับขั้นตอนการอ่าน และการเขียนที่สามารถนำมาใช้พัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3โดยแบ่งความสามารถตามระดับการคิดที่  รัดเดล และ รัดเดล (Ruddell & Ruddel. 1995) แบ่งไว้คือระดับข้อเท็จจริง ระดับการแปลความ ระดับการประยุกต์ และระดับการประมวลเรื่องราวว่า ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยดีขึ้นหรือไม่ และเพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
วิธีดำเนินการ
                   การแบ่งกลุ่มเพื่อจัดนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มย่อยมีขั้นตอนดังนี้
                    1  นำแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านจับใจภาษาไทยไปทดสอบก่อนเรียน
กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างแล้วตรวจให้คะแนนเพื่อหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                    2  นำคะแนนผลการทดสอบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทย
ก่อนเรียนมาเรียงลำดับคะแนนสูงสุดไปหาคะแนนต่ำสุด
                    3  จัดแบ่งนักเรียนทั้งหมดออกเป็นกลุ่มเก่ง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มอ่อน โดยคนที่สอบได้คะแนนอันดับที่ 1-10 อยู่ในกลุ่มเก่ง อันดับที่ 11-20 อยู่ในกลุ่มปานกลาง อันดับที่ 21-30 อยู่ในกลุ่มอ่อน
                    4  จัดกิจกรรมตามขั้นตอน
ผลการดำเนินงาน
                     1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสูงขึ้น
                     2.  นักเรียนอ่านจับใจความได้ดียิ่งขึ้น

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นวิชาที่น่าสนใจอีกวิชาหนึ่งที่จะทำให้คุณครูทุกท่านสามารถสร้างสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ